การประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา


ตือโละปาตานี
วิถีการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

นิเวศตือโละปาตานี

"ตือโละปาตานี"  เป็นภาษามาลายู โดย "ตือโละ" แปลว่า อ่าว ส่วนคำว่า "ปาตา"  หมายถึง ชายหาด หรือที่เรารู้จักกันในนาม “อ่าวปัตตานี” ชาวประมงพื้นบ้านเล่าว่า มีขอบเขตตั้งแต่ชายฝั่งทะเล อ.เทพา จ.สงขลา ผ่าน อ.หนองจิก อ.เมือง อ.ยะหริ่ง ไปจรดแหลมตาชี จ.ปัตตานี  มีทั้งส่วนที่เป็นทะเลนอก เรียกว่า “ลาโอะ ลูวา” ทะเลใน เรียกว่า “ลาโอะ ดาแล” และป่าชายเลน ใต้ท้องทะเล มีกองหินธรรมชาติจำนวนมาก มีแนวปะการังยาวตลอดชายฝั่ง ทั้งที่เป็นปะการังธรรมชาติและปะการังเทียม มีดอนสันทรายกลางทะเล 

ระบบนิเวศของอ่าว เป็นแบบทะเลตมและป่าชายเลน การไหลเวียนของน้ำเป็นแบบผสมผสานระหว่างน้ำจืด น้ำเค็มและน้ำกร่อย มีปากแม่น้ำที่ไหลลงทะเลทางฝั่งตะวันตกของอ่าว ได้แก่ ปากน้ำสะกอม ปากน้ำเทพา ปากคลองเกาะแลหนัง ปากคลองบางราพา ปากคลองตันหยงเปาว์ ปากคลองสายหมอ ปากคลองบางตาวา ปากคลองบางปลาหมอ และปากแม่น้ำปัตตานี โดยแม่น้ำลำคลองเหล่านี้มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาสันกาลาคีรี ไหลผ่านป่าชายเลน ผืนใหญ่สองแปลงเนื้อที่รวมกันนับหมื่นไร่ คือ ป่าชายเลนคลองตูหยง และ ป่าชายเลนบางปู ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ตะกอนจากปากน้ำที่ไหลลงอ่าวปัตตานีนี้ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ ลักษณะเด่นคือพบสาหร่ายผมนางและหญ้าทะเลอยู่มาก โดยเฉพาะ “หญ้าอำพัน” ซึ่งเป็นชนิดที่พะยูนชอบกินมากที่สุด  ดังนั้นอ่าวนี้จึงมีความอุดมสมบูรณ์ เป็นที่วางไข่และขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำ เหมาะกับการทำประมงขนาดเล็ก และเป็นแหล่งประมงพื้นบ้านที่สำคัญของภาคใต้ตอนล่าง

 

วิถีชีวิตและการประกอบอาชีพ

ชุมชนที่อยู่โดยรอบตือโละปาตานีส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ประกอบอาชีพประมงมาแต่ครั้งอดีต จนเมื่อประมาณปี 2535 ประสบกับปัญหาเรืออวนรุนอวนลาก ทำให้ทะเลเกิดความเสื่อมโทรมอย่างหนัก ทรัพยากรสัตว์น้ำลดลงเป็นอย่างมาก เครื่องมือของประมงพื้นบ้านถูกทำลายเสียหาย ชาวบ้านส่วนหนึ่งจึงเลิกทำประมงแล้วเดินทางไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย ในขณะที่ส่วนหนึ่งพยายามต่อสู้เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหา ให้มีกฎหมายควบคุม และพยายามฟื้นฟูทะเลให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิม โดยได้รวมกันจัดตั้งเป็นกลุ่ม เป็นเครือข่าย เป็นชมรม ตลอดจนเป็นสมาคมประมงพื้นบ้าน จำนวนมาก เพื่อช่วยเหลือดูแลสมาชิกซึ่งเป็นชาวประมงพื้นบ้านให้สามารถประกอบอาชีพได้ ออกกติกาชุมชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทะเล เพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนเข้าไปมีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย นโยบายที่เกี่ยวข้องกับอาชีพประมงและร่วมตัดสินใจการพัฒนาที่จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและทรัพยากรทางทะเล 

ปัจจุบันทะเลค่อยๆ กลับฟื้นตัวกลับคืนมามีความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง จนชาวบ้านสามารถจับสัตว์น้ำได้ทั้งในทะเล ชายหาด และลำคลองในป่าชายเลน ตัวชี้วัดหนึ่งที่สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่นี้ คือการที่ชาวบ้านสามารถจับปลาได้ด้วยมือเปล่าหรือแม้แต่การรุนกุ้งเคยและการทอดแหที่หน้าหาดก็ได้ปลามาเป็นอาหารและนำไปขายสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนได้แล้ว ซึ่งอาหารทะเลที่ได้จากตือโละปาตานี นอกจากกินในครัวเรือนแล้ว ยังแบ่งปันให้ญาติ ขายให้กับแพปลาในหมู่บ้าน ขายที่ตลาดนัดทั้งเป็นอาหารสดและแปรรูป เช่น ปลาแห้ง กุ้งแห้ง กะปิ ฯลฯ  ขายที่สะพานปลา ส่งขายให้กับโรงงานแปรรูปอาหารในนิคมอุตสาหกรรม ส่งตลาดมหาชัย ตลาดในกรุงเทพ นอกจากนี้ยังมีพ่อค้าจากมาเลเซียมารับซื้อ และส่งออกต่างประเทศ อาทิ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น บังคลาเทศ เป็นต้น  

การทำประมงในตือโละปาตานี แบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่  1) ไม่มีเรือแต่มีเครื่องมือประมงในการจับสัตว์น้ำรวมถึงการจับปลาด้วยมือเปล่า 2) เรือชนิดไม่มีเครื่องยนต์ หรือเรือพาย  3) เรือที่มีเครื่องยนต์ขนาดเล็กหรือ เรือประมงพื้นบ้านซึ่งหากินในอ่าวนี้ทั้งที่จดทะเบียนและไม่จดทะเบียนรวมกันมีมากกว่า 5000 ลำ  และ 4) เรือขนาดใหญ่หรือประมงพาณิชย์ซึ่งมีจำนวนมากกว่าพันลำ ซึ่งมาจาก นครศรีธรรมราช นราธิวาส สุราษฎร์ธานี ระยอง เพชรบุรี สงขลา และปัตตานี

รายได้ของชาวประมงพื้นบ้าน ยกตัวอย่างที่ อ.เทพา จ.สงขลา เฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 25,000 - 30,000 บาท ไม่นับรวมรายได้เสริมจากการปลูกผักและแปรรูปอาหารขาย เช่น การทำกะปิ กุ้งแห้ง ปลาแห้ง สำหรับคนที่ไม่มีเรือแต่ใช้วิธีจับปลาด้วยมือเปล่า จะมีรายได้ประมาณวันละประมาณ 300 - 700 บาท  

นอกเหนือจากการทำประมงเป็นอาชีพหลักแล้ว ชาวบ้านยังมีการทำปลูกยางพารา มะพร้าว ผัก แตงกวา ถั่วฝักยาว ข้าวโพด หมุนเวียนไป แต่ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ แตงโมเทพา ซึ่งที่เทพานี้เป็นทั้งแหล่งปลูก แหล่งขาย รวมรวมและกระจายแตงโมในภาคใต้ตอนล่างอีกด้วย ส่วนข้าวนิยมการปลูกข้าวพันธ์พื้นเมืองซึ่งมีหลากหลาย ทั้ง จันเต๊ะ หัวนา ช่อลุง หอมจันทร์ ลูกปลา เล็บนก สังข์หยด โดยจะทำนาปีละครั้งเพื่อเก็บไว้กินเอง เหลือจึงนำออกขาย สำหรับคนที่ไม่มีที่ดินทำการเกษตร ก็สามารถพึ่งพาอาศัยทำร่วมกับเพื่อนบ้านได้ โดยเป็นผู้ลงแรงในการปลูก ดูแล และเกี่ยวข้าว แลกกับผลผลิตคนละครึ่ง หรือขอใช้ที่ดินปลูกผักได้โดยไม่ต้องเสียค่าเช่า แลกกับการดูแลสวนมะพร้าว

 

โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

โครงการโรงไฟฟ้าเทพาเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง มีกำลังการผลิตติดตั้งขนาด 1,100 เมกะวัตต์ จำนวน 2 เครื่อง ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีพื้นที่ประมาณ 2,850 ไร่ ในหมู่ที่ 4 ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา พื้นที่โครงการทั้งหมดอยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาปะช้าง-แหลมขาม ปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์ทั้งในส่วนที่อยู่อาศัยของชุมชน การทำเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์ มีมัสยิด โรงเรียนปอเนาะ กุโบร์ และพื้นที่ทำกินของชาวบ้านทั้งบนบก และในทะเล ทั้งนี้ในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA ระบุว่าจะมีครัวเรือนที่ถูกโยกย้ายทั้งหมด จำนวน 152 ครัวเรือน 

โรงไฟฟ้าฯ จะใช้ถ่านหินบิทูมินัส/ซับบิทูมินัส เป็นเชื้อเพลิงหลัก  ซึ่งจะนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย โดยทางเรือมีขนาด 13,000 เดทเวทตัน ประมาณ 4 เที่ยวต่อวัน และออกแบบเพิ่มเติมให้ใช้เชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดในอัตราส่วนไม่เกิน 2% เป็นเชื้อเพลิงเผาร่วมกับถ่านหิน (Co-firing) และใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงสำหรับเริ่มเดินระบบ 

ท่าเทียบเรือของโครงการ จะมีระยะห่างจากชายฝั่ง ประมาณ 3 กิโลเมตร สามารถรองรับเรือได้พร้อมกันสูงสุด 4 ลำ ใช้อุปกรณ์ขนถ่ายถ่านหินจากเรือแบบสกรูจำนวน 2 เครื่อง ทำงานต่อเนื่องด้วยระบบไฟฟ้า อัตราขนถ่ายไม่น้อยกว่า 2,000 ตัน/ชั่วโมง โดยออกแบบการทำงานเป็นระบบปิด

โรงไฟฟ้า ต้องการใช้ถ่านหินประมาณ 21,700 ตัน/วัน หรือประมาณ 6.7 ล้านตัน/ปี (คำนวณที่วันทำงาน 310 วัน/ปี) โดยมีปริมาณถ่านหินสำรองไว้ใช้ในพื้นที่โครงการประมาณ 1.4 ล้านตัน เพียงพอสำหรับการผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 60 วัน พื้นที่สำหรับจัดเก็บถ่านหินของโครงการมีขนาดประมาณ 165x760 ตารางเมตร จำนวน 2 อาคาร คิดเป็นพื้นที่รวมประมาณ 157 ไร่ แต่ละอาคารมีความสูงประมาณ 40 เมตร ภายในอาคารสามารถกองถ่านหินได้อาคารละ 2 แถว รวมเป็น 4 แถว แต่ละแถวมีขนาดกว้าง 55 เมตร ยาว 725 เมตร และสูง 21 เมตร สามารถเก็บถ่านหินได้ประมาณ 350,000 ตัน/แถว 

ในการผลิตไฟฟ้า จะเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง ถ่านหินจะถูกลำเลียงจากอาคารเก็บถ่านหินด้วยสายพานลำเลียงเพื่อนำไปบดให้ได้ขนาดที่เหมาะสม แล้วเผาให้เกิดก๊าซร้อน พลังงานความร้อนจากการเผาไหม้ถ่านหินจะใช้ในการผลิตไอน้ำแรงดันสูงที่อุณหภูมิ 566 องศาเซลเซียส ไอน้ำที่ผลิตได้จะถูกป้อนเข้าสู่เครื่องผลิตไฟฟ้าแบบกังหันเพื่อขับเคลื่อนเครื่องกังหันและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าให้หมุนทำให้เกิดกระแสไฟฟ้า 

ก๊าซร้อนที่ผ่านการถ่ายเทความร้อนให้แก่น้ำปราศจากแร่ธาตุแล้ว อาจมีมลสารปะปนออกมาด้วย ซึ่งจะถูกรวบรวมไปบำบัดด้วยอุปกรณ์ดักจับในรูปแบบต่างๆ สำหรับเถ้าหนักที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเผาไหม้ จะถูกนำออกจากเตาเผาไหม้ที่บริเวณก้นเตา ส่วนเถ้าลอยที่ออกมากับไอเสีย จะถูกดักจับโดยอุปกรณ์ดักจับฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิต 

ไอน้ำที่ผ่านเครื่องกังหันไอน้ำจะถูกส่งมาที่เครื่องควบแน่นเพื่อเปลี่ยนรูปไอน้ำให้กลายเป็นน้ำคอนเดนเสท ซึ่งในการควบแน่นไอน้ำจำเป็นต้องคายความร้อนจากไอน้ำด้วยระบบหล่อเย็น 

โครงการใช้ระบบหล่อเย็นแบบผ่านครั้งเดียว โดยใช้น้ำทะเลเป็นน้ำหล่อเย็น ซึ่งจะต้องใช้น้ำทะเลประมาณ 9 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน ในการนำน้ำทะเลเข้าสู่ระบบหล่อเย็นนั้นโครงการจะทำการก่อสร้างทางน้ำเข้าจากทะเลให้ไหลเข้ามาสู่คลองรับน้ำภายในพื้นที่โครงการ ลักษณะของทางเข้าน้ำจะเป็นเขื่อนกั้นที่ยื่นออกไปในทะเลระยะทางประมาณ 500 เมตร ความกว้างระหว่างเขื่อนทั้ง 2 อยู่ที่ประมาณ 120 เมตร สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 2.5 เมตร โดยทางน้ำเข้านี้จะลึกประมาณ 3.55 เมตรตลอดตั้งแต่ปากทางน้ำเข้าจนถึงสถานีสูบน้ำ 

ในการสูบน้ำทะเลเพื่อนำไปใช้ในระบบหล่อเย็น ประเมินว่าจะสูญเสียแพลงก์ตอนพืช 25 x 106 เซลล์/วินาที แพลงก์ตอนสัตว์ 9 x 106 เซลล์/วินาที และลูกปลาวัยอ่อน 245 ตัว/วินาที ในแต่ละวันจะทำการสูบน้ำเข้าสู่ระบบหล่อเย็นตลอด 24 ขั่วโมง 

น้ำที่ผ่านการหล่อเย็นเพื่อลดอุณหภูมิ จะถูกระบายลงสู่ทะเลที่ระยะห่างจากชายฝั่งประมาณ 2.5 กิโลเมตร ระดับน้ำลึกที่ปลายท่อประมาณ 7.1 เมตร จำนวน 2 ท่อ อุณหภูมิน้ำทะเลที่ปลายท่อทางน้ำออกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 3 องศาเซลเซียส

โครงการได้ออกแบบบ่อเก็บเถ้าปริมาตรการกับเก็บเพียงพอสำหรับรองรับปริมาณเถ้าที่เกิดขึ้นตลอดอายุโครงการ จำนวน 2 บ่อ พื้นที่รวม 740 ไร่ ความลึกของบ่ออยู่ที่ประมาณ 12 เมตร โดยระดับสูงสุดของบ่อเท่ากับ 8 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ความจุของแต่ละบ่ออยู่ที่ประมาณ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการปูรองกันซึมป้องกันการรั่วไหลของน้ำชะจากบ่อออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก 

 

เมืองเทพา 

อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เป็นเมืองปากน้ำชายทะเลที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะป่าไม้ อีกทั้งมีความได้เปรียบในการเดินทางเนื่องจากมีแม่น้ำเทพา ซึ่งมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาสันกาลาคีรี กั้นระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซีย ไหลผ่านและลงอ่าวไทยที่ปากน้ำเทพา ทำให้ในอดีตเทพามีอู่ต่อเรือมากมายทั้งเรือสินค้าและเรือรบ ด้วยที่ตั้งอยู่กึ่งกลางพอดีระหว่างเมืองสงขลากับเมืองปัตตานีซึ่งทำสงครามกันตลอด นอกจากนี้ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ทหารญี่ปุ่นยังได้ตั้งทัพใหญ่ที่เมืองเทพาอันปรากฏร่องรอยอยู่จนทุกวันนี้

เทพา มีระบบนิเวศที่เชื่อมโยงกันแบบ “เขา ป่า นา เล” เรียกได้ว่ามีทั้งคนชายเล คนชายควน (ควนเป็นภาษาถิ่นภาคใต้ หมายถึง ภูเขาดิน หรือเนินสูง มักใช้เป็นพื้นที่ทำสวน เช่น สวนยาง หรือ สวนปาล์ม) และคนปลูกข้าวในที่ราบ คนเหล่านี้มีการติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันมาตั้งแต่ในอดีต โดยคนควนจะนำของป่า และข้าวสาร มาซื้อขายแลกเปลี่ยนกับคนเล โดยเฉพาะเกลือและอาหารทะเลแห้ง 

การสร้างทางรถไฟสายใต้ ผ่านเมืองเทพา ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้ ทำให้สถานีเทพาเป็นจุดจอดเพื่อเติมพลังงาน คือไม้ฟืน เพราะเป็นรถจักรไอน้ำ ทำให้รถไฟต้องจอดที่สถานีนี้เป็นเวลานาน ชาวบ้านทั้งพุทธและมุสลิม ที่อาศัยอยู่ในตลาดเทพา จึงมีอาชีพเพิ่มขึ้นอีกอย่างคือ ขายอาหารให้กับผู้โดยสารบนรถไฟ โดยทำเป็นกระทงใบตองใส่แกงชนิดต่างๆ โดยเฉพาะแกงเขียวหวาน และที่ขาดไม่ได้คือไก่ทอด อันเป็นที่มาของไก่ทอดเทพาที่มีชื่อเสียงมาจนปัจจุบัน

วิถีชีวิตคนเทพาส่วนใหญ่ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน มีอาชีพผสมผสานระหว่างการเกษตรและการประมง มีการปลูกข้าวพื้นบ้านหลากหลายสายพันธุ์และมีปริมาณมากพอที่จะเลี้ยงคนเทพาได้ทั้งอำเภอ มีการทำเกษตรผสมผสานทั้งยางพารา มะพร้าวสำหรับแกง มะพร้าวน้ำหอม แตงโม ฟักทอง พริกไทย มะนาว ผักต่างๆ ฯลฯ ส่วนพื้นที่ติดทะเล ซึ่งเป็นดินปนทราย มีความเหมาะสำหรับปลูกพืชระยะสั้น เช่น แตงกวา ฟักทอง แตงโม ถั่วฝักยาว พริก ฯลฯ โดยเฉพาะแตงโม ที่เทพาเป็นแหล่งปลูก ศูนย์กลางการขายและจุดกระจายแตงโมของภาคใต้ตอนล่าง นอกจากนี้ยังมีส่วนที่เป็นภูเขา แม่น้ำ ลำคลอง ที่ราบสำหรับเพาะปลูก ป่าชายเลน และทะเล มีความอุดมสมบูรณ์ของดิน น้ำ และอากาศ มีความหลากหลายของพืชพรรณอาหาร เทพาจึงเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชุมชน ซึ่งสืบสาแหรกกันมาเป็นเวลานับร้อยปี

 

กระบวนการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเป็นโครงการที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงที่ต้องมีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ในการนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ว่าจ้าง ให้บริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด เป็นผู้จัดทำรายงาน EHIA ซึ่งทางบริษัทฯได้ดำเนินการดังนี้

  • วันอาทิตย์ที่ 2 พฤศจิกายน 2557 จัดรับฟังความเห็นเพื่อกำหนดขอบเขตและประเด็นสำคัญในการประเมินผลกระทบ (Public scoping)
  • เดือนกุมภาพันธ์ – มิถุนายน 2558 จัดรับฟังความคิดเห็นในขั้นตอนการประเมินผลกระทบ 
  • วันที่ 27 กรกฎาคม 2558 จัดเวทีทบทวนร่างรายงาน (Public review)  หลังจากนั้นได้ปรับแก้ร่างรายงาน และส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการต่อไป
  • วันที่ 17 สิงหาคม 2560 คณะกรรมการผู้ชำนาญการมีมติเห็นว่ารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโรงการดังกล่าวมีข้อมูลเพียงพอสำหรับการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 

อนึ่ง ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ได้รับทราบข้อมูลครั้งแรกเมื่อมีการจัดเวทีกำหนดขอบเขตการศึกษา หลังจากนั้น ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะคนที่ต้องถูกบังคับให้ย้ายออกจากพื้นที่บ้านเกิดและชาวประมงพื้นบ้าน ได้รวมตัวกันในนาม “เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน” และได้ทำการคัดค้านโครงการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งชาวบ้านที่คัดค้านฯ ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมเวที public review และไม่ได้รับโอกาสในการชี้แจงข้อเท็จจริงต่อคณะผู้ชำนาญการพิจารณารายงาน EHIA  (คชก.) จนในที่สุด คชก. ได้มีมติให้ส่งรายงาน EHIA เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จึงที่มาของการประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน (community health impact assessment: CHIA)


ถ้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมา เราไม่รู้เลยว่าเราจะไปอยู่กันที่ไหน
ไม่รู้ว่าพี่น้องจะเป็นยังไง และจะมีอาชีพยังไง
หากินกันยังไง จะใช้ชีวิตข้างหน้ายังไง
การโยกย้ายออกจากพื้นที่ ผมมองว่ามันไม่ใช่แค่การโยกย้ายออกจากพื้นที่
แต่มันคือการล่มสลาย การทำลายชุมชนที่มีความเป็นเอกลักษณ์
ผมมองว่ามันเป็นความปวดร้าวที่ถูกกระทำอย่างรุนแรง
ไม่สามารถจะอธิบายเป็นคำพูดได้ว่ามันรู้สึกยังไง
ถ้าคนไม่เคยถูกย้ายออกจากสิ่งที่เรารัก”


 

แรงบันดาลใจในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน 

“ตั้งแต่เกิดมาผมอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีค่า จะมีเงินทองหรือของมีค่าที่จะมาซื้อสิ่งแบบนี้ได้ ที่เป็นสิ่งแวดล้อมที่บริสุทธิ์ ทะเลที่สวยงาม หรือมีญาติมิตรพี่น้อง ไม่ว่าจะเป็นไทยมุสลิมหรือคนต่างศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันไปมาหาสู่กันได้ พื้นที่เทพาเป็นพื้นที่ที่มีสิ่งสวยงาม มีวัฒนธรรมประเพณี ประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน แต่สุดท้ายสิ่งเหล่านี้พอเริ่มแค่กระบวนการแรกของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินก็สร้างความแตกแยกในหมู่บ้าน ให้กับพี่น้อง คือเริ่มมีความไม่เข้าใจ ไม่มั่นใจในความเป็นมิตรสหาย เราหากินในทะเล มีการเพาะปลูกอีกมากมาย ถ้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมา เราไม่รู้เลยว่าเราจะไปอยู่กันที่ไหน ไม่รู้ว่าพี่น้องจะเป็นยังไง และจะมีอาชีพยังไง หากินกันยังไง จะใช้ชีวิตข้างหน้ายังไง การโยกย้ายออกจากพื้นที่ ผมมองว่ามันไม่ใช่แค่การโยกย้ายออกจากพื้นที่ แต่มันคือการล่มสลาย การทำลายชุมชนที่มีความเป็นเอกลักษณ์ ผมมองว่ามันเป็นความปวดร้าวที่ถูกกระทำอย่างรุนแรง ไม่สามารถจะอธิบายเป็นคำพูดได้ว่ามันรู้สึกยังไง ถ้าคนไม่เคยถูกย้ายออกจากสิ่งที่เรารัก”  ซานูซี สาแระ ชาวประมงพื้นบ้านที่หากินอยู่ในตือโละปาตานี และมีบ้านอยู่ในพื้นที่ตั้งของโครงการ ได้สะท้อนความรู้สึกออกมา ซึ่งไม่ต่างไปจากคนอื่นๆ ที่ถูกบังคับให้ย้ายออกไปจากบ้านเกิดของตน  มติของคณะผู้ชำนาญการพิจารณารายงานอีเอชไอเอ ในวันที่ 17 สิงหาคม 2560 ได้ก่อให้เกิดเป็นความทุกข์ร่วม แต่ไม่นานความทุกข์นั้นก็ได้แปรเปลี่ยน (transform) เป็นพลัง เป็นแรงบันดาลใจของชาวบ้านที่ไม่ยอมจำนน ไม่ยอมตกเป็นเหยื่อของการพัฒนา จึงเริ่มต้นกระบวนการอ่านรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างละเอียด โดยเฉพาะมิติผลกระทบต่อชุมชน 

 

กระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน

การประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน (Community Health Impact Assessment: CHIA) เป็นรูปแบบหนึ่งของการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (Health Impact Assessment: HIA) ตามประกาศของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ มุ่งเน้นการหนุนเสริมให้ชุมชนสามารถเก็บรวมรวมข้อมูลผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับตนเองและสามารถใช้ข้อมูลในการเจรจาต่อรองในกระบวนการตัดสินใจ เพื่อเลือกการพัฒนาที่เป็นผลดีต่อชุมชนและสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินการ 6 ขั้นตอนประกอบไปด้วย1) การค้นหาคุณค่าหลักของชุมชน 2) การเรียนรู้โครงการที่จะกระทบต่อชุมชน 3) การเรียนรู้สิทธิของชุมชนและการมีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายสาธารณะ 4) การประเมินผลกระทบ 5) การผลักดันสู่ขั้นตอนการตัดสินใจ และ 6) การติดตามประเมินผล

 

การใช้แผนที่ชุมชนแสดงคุณค่าและจำแนกผู้มีส่วนได้เสีย

ชาวบ้านเริ่มต้นด้วยการวาดแผนที่ชุมชน เพื่อแสดงคุณค่าของตือโละปาตานี ทั้งในด้านระบบนิเวศ วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ วัฒนธรรม การใช้ประโยชน์จากทรัพยากร  ซึ่งจากแผนที่ทำให้จำแนกผู้มีส่วนได้เสียชัดเจนขึ้น โดยจะเห็นว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ไม่ได้มีเพียงผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ตั้งโครงการและขอบเขตรัศมี 5 กิโลเมตรเท่านั้น หากแต่หมายถึงคนทุกกลุ่มที่ได้พึ่งพาทรัพยากรในตือโละปาตานีเป็นฐานในการดำรงชีพ ดังเช่น ตือโละปาตานีเป็นแหล่งการทำประมงพื้นบ้านของภาคใต้ตอนล่าง และมีชุมชนประมงอยู่รอบอ่าวเป็นจำนวนมากซึ่งเรือเหล่านี้วิ่งหากินไปมาในอ่าวตั้งแต่สงขลาจนถึงแหลมตาชี ปัตตานี หรืออาจจะไปได้ไกลกว่านั้น ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศทางทะเลที่เป็นเหตุให้ทรัพยากรทางทะเลลดลง ไม่ใช่เพียงชาวประมงเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ หากแต่ผู้ที่ประกอบอาชีพเกี่ยวเนื่องกับการประมงก็ได้รับผลกระทบด้วย อาทิ อู่ต่อเรือ คนวาดลายเรือ คนผลิต/ขายอุปกรณ์ประมง แพปลา แม่ค้า ร้านอาหาร ร้านน้ำแข็ง ร้านน้ำชา โรงงานแปรรูปอาหาร ตลอดจนผู้บริโภค เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดอยู่ในระบบเศรษฐกิจเดียวกัน และทำเป็นเอกสารชุดแรกขึ้นมา ชื่อว่า ตือโละปาตานี ดารุสสลาม ดินแดนแห่งสันติภาพ”

 

กระบวนการอ่านรายงานอีเอชไอเอและจัดทำแผนที่ความเสี่ยง

กระบวนการอ่านรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เริ่มจากการทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างของรายงานฯ ตั้งแต่บทที่ 1-7 จากนั้นแบ่งกลุ่มชาวบ้านให้อ่านตามประเด็นที่ตนเองสนใจ อาทิ การเลือกที่ตั้งโครงการและลักษณะพื้นที่ ข้อมูลโครงการโรงไฟฟ้า (ประเภทของถ่านหิน การขนส่ง สารเคมี การใช้น้ำ การจัดการมลพิษทางอากาศ ฯลฯ)  ระบบนิเวศทะเล ชายหาด ป่าชายเลน การทำประมง การย้ายครัวเรือน การทำเกษตร การมีส่วนร่วม เป็นต้น โดยมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงในรายงานว่าตรงกับข้อมูลความจริงในพื้นที่หรือไม่ แล้วเล่าให้เพื่อนฟัง จากนั้นได้ทำแผนที่ขึ้นมาใหม่ เรียกว่าแผนที่ความเสี่ยง (Risk map) โดยการวาดแผนที่ชุมชนตือโละปาตานี แล้วทาบแผนผังโครงการลงไปในแผนที่ อาทิ สะพานขนส่งถ่านหิน ท่อน้ำที่จะสูบจากทะเล ท่อน้ำทิ้ง อาคารเก็บถ่านหิน บ่อขี้เถ้า จุดระบายน้ำ ฯลฯ  เพื่อให้เห็นภาพว่าโครงการที่จะสร้างขึ้นจะทับสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่เดิมอย่างไร เช่น การวางท่อน้ำในทะเลที่ทับแนวปะการังและที่วางเครื่องมือประมง ชายหาดที่ใช้ในการรุนกุ้งเคย หาหอย ทอดแหจับปลากะพง จะถูกขุดเพื่อวางท่อขนาดใหญ่เพื่อสูบน้ำทะเลเข้าสู่ระบบหล่อเย็น เป็นต้น ทำให้เห็นความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน 

นอกจากนี้ยังได้สำรวจลำคลองในป่าชายเลนเพื่อดูความเชื่อมต่อระหว่างจุดระบายน้ำจากโครงการที่ลงไปทางคลองตุหยง ซึ่งพบว่าเส้นทางน้ำนี้เชื่อมผ่านป่าชายเลนไปได้ถึงปัตตานี ซึ่งเป็นเส้นทางการคมนาคมในอดีต ปัจจุบันเป็นพื้นที่ทำกินของประมงพื้นบ้าน ที่มีการวางเครื่องมือประมงตลอดแนวคลอง รวมถึงการวางเครืองมือประมงในป่าชายเลนด้วย 

 

คาดการณ์ผลกระทบต่อชุมชน

จากการทำแผนที่ความเสี่ยง ทำให้ชาวบ้านสามารถสรุปข้อห่วงกังวลต่อผลกระทบที่สำคัญ ได้ 3 ประเด็นได้แก่ 1) ผลกระทบจากการบังคับโยกย้ายถิ่นฐาน 2) ผลกระทบต่อการทำประมง และ 3) ผลกระทบต่อการทำเกษตร ได้แก่ ข้าวพื้นเมือง แตงโม และการทำเกษตรแบบผสมผสาน ดังนั้นชาวบ้านจึงได้ทำการประเมินผลกระทบด้วยตนเอง โดยใช้กรอบแนวคิดและตัวชี้วัดเดียวกันกับบริษัทที่ปรึกษา 

ทั้งนี้ชุมชนได้ประเมินว่าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาจะทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อชุมชนในระดับมากที่สุด ในทุกประเด็น ดังนี้

เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร เนื่องจาก การอพยพเข้ามาของแรงงานก่อสร้าง 3,500 คน จะทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นแบบกะทันหันของคนแปลกหน้าทันทีและมีจำนวนมากกว่าประชากรทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในพื้นที่หมู่ 4 ก่อให้เกิดผลกระทบต่อโครงสร้างทางสังคมเป็นอย่างมาก มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด การเกิดแบบแผนการเจ็บป่วยใหม่ๆ นอกจากนี้ คนที่จะย้ายเข้ามาจะไม่มีได้มีแค่แรงงาน แต่จะมีครอบครัวของแรงงานด้วย ทำให้มีจำนวนมากกว่า 3,500 คน และอาจก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น ปัญหาเรื่องโรคติดต่อ ยาเสพติด อาชญากรรม เป็นต้น

เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครอบครัวและเครือญาติ เนื่องจากการอพยพโยกย้ายเกือบทั้งหมดของครัวเรือนในหมู่ที่ 4 บ้านคลองประดู่ จะทำให้ความสัมพันธ์ของกลุ่มครอบครัวและเครือญาติในบางพื้นที่ต้องสูญสลาย การกราบไหว้บรรพบุรุษในสุสานมุสลิมอาจเป็นไปด้วยความยากลำบาก ชาวประมงอาจต้องเปลี่ยนไปสู่อาชีพใหม่ หรือออกเดินเรือไปไกลมากขึ้น ใช้เวลายาวนานมากขึ้นเพื่อจับสัตว์น้ำ 

เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวบ้าน ชาวบ้านเทพามีวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับหลักศาสนาอิสลาม รักสันติภาพ ความสงบ และยึดมั่นในหลักศาสนา การเข้ามาของโรงไฟฟ้าและแรงงานอาจนำมาซึ่งกิจกรรมที่ขัดต่อหลักคำสอน นำพาให้ชีวิตชาวมุสลิมในเขตเทพาขาดความอิสระ ความไม่สบายใจ นอกจากนี้ กิจกรรมที่ กฟผ. เข้ามาดำเนินการในพื้นที่ ยังมีส่วนก่อให้เกิดความแตกแยกในชุมชนเองระหว่างกลุ่มที่เห็นด้วยกับคัดค้านโครงการ

เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้ท้องถิ่นต้องมีภาระเพิ่มขึ้นในการดูแล ซ่อมแซมสาธารณูปโภคพื้นฐานมากขึ้นจากการคมนาคม การจัดทำระบบน้ำประปา และไฟฟ้าให้ทั่วถึง ปัญหาการจัดการขยะที่มากขึ้น การจัดการอุบัติภัยสารเคมีที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ ตลอดจนดูแลแก้ไขปัญหาสังคมที่จะเกิดขึ้นจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต

ความหลากหลายของอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นใหม่อย่างหลากหลายก็อาจไม่ได้เหมาะสมกับชุมชน ทั้งนี้ความหลากหลายทางการเกษตรย่อมดีกว่าความหลากหลายทางอุตสาหกรรม

ความยุติธรรมในการจ้างงาน ปัจจุบันโอกาสในการทำมาหากินของคนในชุมชนมีมากมาย เพราะทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ คนท้องถิ่นไม่มีโอกาสได้เข้าทำงานตามที่ กฟผ. กล่าว เพราะไม่มีทักษะตรงกับที่โรงไฟฟ้าจะจ้าง อีกทั้ง ค่าแรงขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดนั้น ยังน้อยกว่ารายได้ปัจจุบันของชาวบ้านในแต่ละวัน

การเกิดชนชั้นใหม่ในชุมชน ปัจจุบันแม้ยังไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้า ก็เกิดความแตกแยกขึ้นในชุมชนระหว่างกลุ่มคนสนับสนุนและกลุ่มคัดค้านโครงการ หากมีคนจากภายนอกอพยพเข้ามาจะยิ่งเกิดความแปลกแยกเพิ่มมากยิ่งขึ้น  นอกจากนี้มาตรการในการทำ CSR จะไม่สามารถเชื่อมความสัมพันธ์ ผสานรอยร้าวที่เกิดขึ้นได้ เพราะไม่เข้าใจวัฒนธรรมของชุมชน

การล่มสลายของเครือข่ายทางสังคม การอพยพคนในพื้นที่ออก ต้องขาดการติดต่อกับเพื่อนหรือเครือญาติที่อยู่ใกล้เคียง เนื่องจากคนในหมู่บ้านต่างเป็นเครือญาติกัน การจากไปของผู้อพยพ ส่งผลต่อสภาพจิตใจและความรู้สึกของผู้ที่ยังอาศัยอยู่ที่เดิม เป็นประเด็นที่สำคัญและเป็นผลกระทบในระยะเวลาที่ยาวนาน และกระทบโดยตรง นอกจากนี้ กิจกรรมทางศาสนาหลายกิจกรรมที่มีลักษณะของความสัมพันธ์ในรูปแบบเครือญาติที่จะได้รับผลกระทบหากญาติพี่น้องอพยพโยกย้ายออกไป

 

ข้อเสนอต่อการพัฒนาตือโละปาตานีอย่างยั่งยืน

การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นการพัฒนาที่ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง ควรตั้งอยู่บนฐานของการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นหลัก และเปิดโอกาสให้ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการพัฒนาเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของตนเองได้อย่างแท้จริง (self-determination) ต้องไม่มีใครถูกยัดเหยียด เบียดขับและตกเป็นเหยื่อของการพัฒนา

ชุมชนตือโละปัตตานี มีวิถึชีวิตที่ผูกพันกับทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่อย่างแยกออกได้ยาก ทั้งในมิติเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตตามหลักการของศาสนาตลอดจนวัฒนธรรมของชาวมุสลิม ดังนั้น การพัฒนาที่จะเกิดขึ้นของตือโละปาตานี จึงควรเป็นการพัฒนาที่สอดคล้องกับฐานทรัพยากร วัฒนธรรม ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการที่จะกำหนดเป้าหมายและทิศทางการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นด้วยตนเอง ไม่มีการเบียดขับใครหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งออกจากการมีส่วนร่วมที่จะเกิดขึ้น 

ทางเลือกการพัฒนาที่จะเกิดขึ้น อาจเป็นไปได้ในหลายทิศทาง ทั้งในด้านการประมง การเกษตร การพัฒนาด้านอุตสาหกรรมอาหารและการแปรรูปที่เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง การพัฒนาด้านการท่องเที่ยว ซึ่งการพัฒนาไม่ว่าจะเป็นในลักษณะใดก็ตามที่จะเกิดขึ้น จะต้องไม่ละเลยมิติของความยั่งยืนทั้งของทรัพยากรที่จะส่งไปให้กับคนในรุ่นต่อไป และความยั่งยืนของชุมชน ทุกคนในชุมชน ควรมีโอกาสที่จะได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาทางเลือกและตัดสินใจทางเลือกต่างๆ อย่างเท่าเทียมกันตามหลักแนวคิดของประชาธิปไตยและการกระจายอำนาจ ไม่ใช่เป็นการกำหนดนโยบายจากศูนย์กลางที่พรากปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของชุมชนออกไป รวมถึงพรากสิทธิในการกำหนดทิศทางการพัฒนาในแผ่นดินเกิดของคนในพื้นที่

 

การประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา