โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 600 เมกะวัตต์ ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา


ประมาณปี พ.ศ. 2551 ภายหลังที่ชาวบ้านทราบข่าวว่าจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 600 เมกะวัตต์ที่ ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา จึงได้คัดค้านและต่อต้านในหลายวิธี เพื่อปกป้องสิทธิของตนในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ ทั้งการประท้วง ปิดถนน ยื่นเรื่องไปยังหน่วยงานต่างๆ ฟ้องศาลปกครอง รวมทั้งมีการถวายฎีกา เครือข่ายติดตามผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าฯ จึงได้ตัดสินใจยื่นหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เพื่อขอใช้สิทธิตาม มาตรา 11 พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ขอให้มีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพจากโครงการดังกล่าว

ศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมพร้อมกับพูดคุยกับกลุ่มผู้ขอใช้สิทธิเพื่อกลั่นกรองความจำเป็นในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ในเบื้องต้นพบว่า โครงการนี้จัดอยู่ในประเภทโครงการที่อาจจะกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ทั้งนี้มลพิษของโรงไฟฟ้าถ่านหิน อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยกำหนดสุขภาพของชุมชน ทั้งทางด้านคุณภาพอากาศ เสียง น้ำ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนใกล้เคียงโรงไฟฟ้าอีกด้วย อาจมีผลกระทบด้านลบต่อกลุ่มด้อยโอกาสโดยเฉพาะกลุ่มคนยากจนที่พึ่งพาอาหารธรรมชาติในลุ่มน้ำคลองท่าลาด  ดังนั้นการทำเอชไอเอจะช่วยให้ภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับการแสวงหา ข้อมูล หลักฐาน ที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจโครงการการ ซึ่งจะช่วยให้การตัดสินใจของหน่วยงานอนุญาตเป็นไปอย่างรอบคอบรอบด้านมากขึ้น 

ทั้งนี้พบว่ามีทางเลือกในการทำเอชไอเอ 3 ระดับคือ

1) การทำเอชไอเอในระดับแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้า (แผน PDP) ซึ่งเป็นที่มาของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันได้มีนักวิชาการหลายองค์การ ทำการศึกษา และมีข้อเสนอแนะทางเลือกและผลักดันแผน PDP ที่เป็นผลดีต่อสุขภาพของประชาชนมากที่สุดแล้ว หากแต่ยังคงอยู่ในระหว่างการเจรจาต่อรองในกระบวนการนโยบายสาธารณะ 

2) ระดับโครงการ แต่เนื่องจากโครงการนี้จัดอยู่ในประเภทที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ต้องดำเนินงานตาม ม.67 วรรคสอง ซึ่งต้องทำเอชไอเอตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งทางบริษัทเนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) ได้มีการว่าจ้างที่ปรึกษาคือบริษัทแอร์เซฟ จำกัด ร่วมกับคณาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์สังคมและสิ่งแวดล้อม คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินการ

3) ระดับชุมชน กรณีนี้ ชุมชนจะเป็นผู้ทำเอชไอเอเอง โดยมีนักวิชาการที่เป็นที่ปรึกษา ซึ่งข้อมูล หลักฐานจากการทำเอชไอเอชุมชน จะช่วยให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบเข้าไปมีส่วนร่วมให้ความเห็นในกระบวนการทำ EHIA ของทางบริษัทที่ปรึกษาได้อย่างมีความหมาย แม้ว่าจะผ่านขั้นตอนการทำ public scoping ไปแล้ว และก็ยังสามารถเข้าไปร่วมนำเสนอข้อมูลในขั้นตอนของการประเมินผลกระทบและขั้นตอนของการทำ public review ได้ ซึ่งจะช่วยให้รายงาน EHIA มีความสมบูรณ์และสอดคล้องกับความเป็นจริงของชุมชนได้มากขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของคณะผู้ชำนาญการพิจารณารายงาน EHIA รวมถึง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานด้วย

ต่อมาคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ได้มีมติเห็นชอบสนับสนุนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในรูปแบบการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน (Community Health Impact Assessment: CHIA) ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของผู้ร้องขอใช้สิทธิที่ต้องการให้ สช. สนับสนุนการทำเอชไอเอชุมชน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมด้านข้อมูล หลักฐาน ผลกระทบต่อสุขภาพชุมชน ในการเข้าไปมีส่วนร่วมเสนอความเห็นในกระบวนการ EHIA ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กระบวนการเอชไอเอชุมชน

เริ่มต้นจากประชุมกลุ่มย่อยร่วมกับชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการอนุมัติอนุญาตโครงการโรงไฟฟ้า กฎหมาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับชี้ให้เห็นว่าขณะนี้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน อยู่ในขั้นตอนไหน และชุมชนจะเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการแต่ละขั้นจนถึงการตัดสินใจได้อย่างไรบ้าง ? จากนั้นทำความเข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียดโครงการโดยศึกษาข้อมูลจากรายงานอีไอเอของบริษัท ที่เคยผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ไปแล้วเป็นหลัก จากนั้นได้เปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้แสดงข้อห่วงกังวล ซึ่งพบว่ามีในหลายด้าน เช่น ผลกระทบต่อน้ำ กล่าวคือจะทำให้เกิดภาวะฝนกรด น้ำไม่พอใช้ รวมถึงการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่สร้างมลพิษทางอากาศ ทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย  เกิดการเจ็บป่วย อาจทำให้มีแรงงานต่างถิ่นเข้ามาทำงานและอยู่อาศัยในพื้นที่มากขึ้นซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

ขั้นตอนต่อมาได้มีการนัดหมายทำแผนที่ชุมชน เพื่อให้เห็นขอบเขตพื้นที่และประเด็นในการศึกษาให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยมีตัวแทนจากหมู่บ้านต่างๆ เช่น บ้านยางแดง บ้านแหลมเขาจันทร์ บ้านบางพะเนียง บ้านบางมะเฟือง บ้านท่าม่วง บ้านสระไม้แดง บ้านอ่างทอง และบ้านหนองคล้า มานั่งวาดแผนที่หมู่บ้านของตนเองก่อน แล้วค่อยเอามาต่อกันให้เห็นภาพรวมของหลายหมู่บ้านและลากเส้นถนน ลำห้วย คลองชลประทาน ฯลฯ ให้เชื่อมต่อกัน

แผนที่ที่ชาวบ้านวาดด้วยมือตนเองแม้จะดูไม่เป็นทางการแต่ทำให้เราเห็นความเชื่อมโยงของวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อาศัยพึ่งพาน้ำจากคลองสียัด และคลองระบม ภาพสายน้ำสีฟ้าเส้นเล็กๆ ดูมีความหมายและคุณค่าขึ้นมาทันทีเมื่อได้ถูกลากผ่านที่นา และบ้านเรือน บางจุดเป็นแนวไผ่ป่าที่ชาวบ้านเข้าไปเก็บหน่อไม้ บางจุดไหลผ่านวัด ผ่านโรงเรียน หลายจุดมีประปาหมู่บ้านตั้งอยู่ไม่ห่างลำคลอง  ชาวบ้านบอกว่าแผนที่ชุมชน ต่างจากแผนที่ที่อยู่ในรายงานของโครงการ ซึ่ง ไม่เห็นที่นา บ้านคน วัด โรงเรียน ไม่เห็นชีวิต ทั้งที่ความจริงแล้วบนพื้นที่เหล่านั้นมีผู้คนอยู่อาศัย มีแปลงนา มีแปลงเห็ดฟาง มีแปลงผักอินทรีย์

จากแผนที่วาดมือได้แปลงเป็นภาพกราฟฟิค แล้วให้ชุมชนได้ช่วยกันตรวจสอบความถูกต้องของแผนที่อีกครั้ง สิ่งที่น่าสนใจ คือ มีการเพิ่มเส้นคลองชลประทาน มีการปรับแก้เพิ่มหมู่บ้านอื่นๆ เข้ามา เช่น บ้านกระบกเตี้ย บ้านห้วยน้ำใส เพราะเมื่อได้เห็นข้อมูลแล้ว รู้สึกว่าต้องการเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องนี้ อยากมีบ้านของตนเองบันทึกอยู่ในแผนที่นี้ เราพบว่าชาวบ้านที่ไม่ได้มาร่วมวาดแผนที่ในครั้งก่อน แต่ก็สามารถชี้บอกได้ว่าบ้านตัวเองอยู่ตรงไหน เด็กบางคนสามารถบอกได้ว่าบ้านหลังนี้เป็นบ้านของใคร

จากแผนที่ชุมชน ทำให้ได้โจทย์การศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพที่ชัดเจนขึ้น โดยมุ่งไปที่ปัจจัยกำหนดสุขภาพที่สำคัญของเกษตรกรลุ่มน้ำคลองท่าลาด 2 เรื่อง คือ 1) ผลกระทบต่อระบบน้ำของลุ่มน้ำคลองท่าลาด และ 2) ผลกระทบต่อระบบเกษตร ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 เรื่องย่อยคือ เกษตรอินทรีย์ เห็ดฟาง และมะม่วง

ในขั้นตอนของการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และวิเคราะห์ผลกระทบ ได้ใช้วิธีการทบทวนการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญๆ ในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองท่าลาด โดยใช้เทคนิคเส้นเวลา (Timeline) ศึกษาศักยภาพของพื้นที่ และทรัพยากรน้ำ ทั้งปริมาณและคุณภาพ ศึกษา ข้อมูลโครงการโรงไฟฟ้าฯ นโยบายและแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า มลพิษและพิษวิทยา และกรณีศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ  และเก็บรวบรวมข้อมูล เกษตรอินทรีย์ มะม่วง และเห็ด โดยการประชุมกลุ่มย่อยกับเกษตรกรแต่ละประเภท เพื่อทำแผนที่แปลงผัก/มะม่วง/เห็ด รวบรวมข้อมูลปริมาณการผลิตและส่งขายไปยังทั้งในและต่างประเทศ การสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชน  ทบทวนแนวคิด หลักการและคุณค่า เกณฑ์มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ทำแผนที่ระบาดวิทยากรณีที่การล้มสวนมะม่วง ที่อยู่ใกล้กับเขตประกอบการอุตสาหกรรม 304

ทั้งหมดนี้ มุ่งเน้นการเก็บข้อมูล หลักฐานเชิงประจักษ์โดยการสำรวจพื้นที่ ประกอบกับศึกษาเอกสารหลักฐานของทางราชการ บันทึกของชุมชน เอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  การประชุมกลุ่มย่อย การสอบถาม การสัมภาษณ์เชิงลึก และมีกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดยชุมชน

ข้อค้นพบเบื้องต้นได้ถูกรวบรวม เป็นเอกสาร (ร่าง) ความมั่นคงทางอาหาร กับ พลังงานถ่านหิน : ความขัดแย้งบนพื้นที่เกษตรกรรมและวิถีชุมชนคนลุ่มน้ำคลองท่าลาด และจัดเวทีเมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม 2554 ณ หอประชุมวิทยาลัยการอาชีพ พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา นำเสนอ เพื่อให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ และประชาชนในพื้นที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ช่วยกันตรวจสอบความครบถ้วนและความถูกต้องของข้อมูล รวมถึงให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม (Public Review) จากเวทีมีข้อยืนยันที่ชัดเจนว่าปัจจุบันน้ำในลุ่มน้ำคลองท่าลาดไม่พอใช้ ดังนั้นหากโรงไฟฟ้าจะขอส่วนแบ่งน้ำไปใช้ปีละ 11 ล้านลูกบาศก์เมตร ย่อมจะมีปัญหาตามมาโดยเฉพาะความขัดแย้งจากการแย่งชิงน้ำ และมีปัญหาในเชิงคุณภาพของน้ำ ในส่วนประเด็นเกษตรได้มีข้อเสนอให้ศึกษาเพิ่มเติมโดยเฉพาะความอ่อนไหวของพืชแต่ละชนิดต่อมลพิษโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ภายหลังที่ได้มีการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม และประชุมปรึกษาผู้เชี่ยวชาญแต่ละประเด็นโดยเฉพาะเรื่องน้ำและเห็ดฟางแล้ว จึงได้มีการสรุปเป็นเอกสาร (ร่าง) อาหาร – ถ่านหิน จุดตัดการพัฒนาบนพื้นที่เกษตรกรรม พนมสารคาม – สนามชัยเขต นำเสนอต่อนักวิชาการ  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ (Expert Review) ได้แก่ ผู้แทนกรมโรงงาน ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน นักวิจัยจากมูลนิธินโยบายสุขภาวะ นักผังเมืองจากเครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม นักกฎหมายจากโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม ผู้แทนจากกรีนพีซ และสื่อมวลชนทีสนใจ

หลังจากนั้น ชุมชนได้นำเสนอผลการศึกษาที่ปรับปรุงตามข้อเสนอของนักวิชาการแล้ว ต่อคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ทั้งนี้คณะกรรมการได้มีมติ เห็นชอบให้เสนอรายงานการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพโดยชุมชน กรณี โรงไฟฟ้าถ่านหิน 600 เมกะวัตต์ จ.ฉะเชิงเทรา ต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช..) เพื่อพิจารณา ส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาประกอบการตัดสินใจตามบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเองต่อไป และให้ สช. ประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิชาการ และชุมชน เพื่อจัดกลไกในการแก้ไขปัญหาผลกระทบเดิมที่อยู่แล้ว เช่น การไม่ติดดอก หรือ ช่อไหม้ของมะม่วง การปนเปื้อนโละหนักในแหล่งน้ำ เป็นต้น รวมถึงการมองอนาคตของลุ่มน้ำคลองท่าลาดเพื่อวางกรอบการพัฒนาที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ต่อไป

อนึ่ง ในขณะที่ยังไม่มีการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ  สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้มีกำหนดนัดหมายการประชุมของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) เพื่อพิจารณารายงาน EHIA โครงการนี้ ซึ่งก่อนการประชุม คชก. ได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ทำให้ทีมเอชไอเอชุมชนได้มีโอกาสนำเสนอข้อมูลต่อ คชก. ได้โดยตรง และในการประชุมนี้ ทาง สผ. ได้นำเอกสารการทำเอชไอเอชุมชนเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้แทน สช. ได้เข้าร่วมชี้แจงข้อมูลด้วย สรุปว่า คชก. ยังไม่เห็นชอบรายงานอีเอชไอเอ

วันที่ 20 กรกฎาคม 2555  คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ มีมติ เห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพโดยชุมชน กรณี โรงไฟฟ้าถ่านหิน 600 เมกะวัตต์ ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา และให้ส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) คณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และอื่น ๆ รวมทั้งหน่วยงานในระดับจังหวัด เพื่อพิจารณาประกอบการตัดสินใจตามบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเองต่อไป  และให้ สช. ประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิชาการและชุมชน เพื่อจัดกลไกในการแก้ไขปัญหาผลกระทบเดิมที่มีอยู่แล้ว การมองอนาคตของลุ่มน้ำคลองท่าลาดเพื่อวางกรอบการพัฒนาอย่างสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ต่อไป